อุกกัณฐิตะภิกขุ
(ขั้นตอนของการดับทุกข์)
 

              เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน กรุงสาวัตถี ครั้งนั้นมีลูกชายเศรษฐีคนหนึ่งเป็นผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา พิจารณาเห็นว่าชีวิตของผู้ครองเรือนมีความวุ่นวาย สับสน มีปัญหาให้ต้องแก้สารพัดไม่จบไม่สิ้น ประกอบไปด้วยทุกข์ เขาจึงเข้าไปหาพระภิกษุรูปหนึ่งเรียนถามว่า "ท่านผู้เจริญ กระผมใคร่จะพ้นจากทุกข์ ขอท่านโปรดบอกวิธีที่กระผมจะพ้นจากทุกข์สักอย่างหนึ่งเถิด"พระเถระกล่าวว่า "ดีแล้ว ถ้าเธออยากจะพ้นจากความทุกข์ เธอจงถวายสลากภัตร ถวายภัตตาหารในวันพระ ถวายภัตตาหารในวันเข้าพรรษา ถวายปัจจัย๔อันมีจีวรเป็นต้น แก่พระภิกษุสงฆ์ เธอจงแบ่งทรัพย์ออกเป็น ๓ ส่วน ประกอบอาชีพการงานด้วยทรัพย์ส่วนหนึ่ง ใช้เลี้ยงบุตรภรรยาด้วยทรัพย์ส่วนหนึ่ง และใช้ทำบุญในพระพุทธศาสนาส่วนหนึ่ง" เขารับว่า "ดี ขอรับ" แล้วลาพระเถระไปแล้วปฏิบัติตามลำดับแห่งกิจที่พระเถระบอก

   



              ต่อมาเขาไปหาพระเถระอีก เขาถามว่า "ท่านผู้เจริญ กระผมจะทำกิจอะไรให้ยิ่งขึ้นอีกขอรับ?" พระเถระตอบว่า "เธอจงรับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึงที่ระลึก และสมาทานศีล ๕ เถิด" เขารับว่า "ดีขอรับ"แล้วกล่าวคำปฏิญญารับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึงที่ระลึก และขอรับศีล๕กับพระเถระ แล้วลาพระเถระกลับไป

            ต่อมาเขาไปหาพระเถระอีก เขาถามว่า "ท่านผู้เจริญ กระผมจะทำกิจอะไรให้ยิ่งขึ้นอีกขอรับ?" พระเถระตอบว่า "เธอจงรับศีล ๑๐ เถิด" เขารับว่า "ดีขอรับ" แล้วรับศีล๑๐ กับพระเถระ แล้วลาพระเถระกลับไป

             ต่อมาเขาไปหาพระเถระอีก เขาถามว่า "ท่านผู้เจริญ กระผมจะทำกิจอะไรให้ยิ่งขึ้นอีกขอรับ?" พระเถระตอบว่า "เธอจงบวชเป็นพระภิกษุเถิด" เขารับว่า "ดีขอรับ"เขาลาพระเถระกลับไป เขาบอกมารดาบิดา บุตร ภรรยา และญาติมิตรแล้วออกบวช พระภิกษุผู้เชี่ยวชาญพระวินัยรูปหนึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ พระภิกษุผู้เชี่ยวชาญพระอภิธรรมรูปหนึ่งเป็นอาจารย์ พระอาจารย์ก็อบรมสั่งสอนอภิธรรมหมวดต่างๆอย่างมากมาย พระอุปัชฌาย์ผู้เชี่ยวชาญพระวินัยก็ให้การอบรมสั่งสอนข้อประพฤติปฏิบัติต่างๆว่า พระภิกษุพึงทำอย่างนั้น ไม่พึงทำอย่างนี้ พึงนั่งอย่างนั้น ไม่พึงนั่งอย่างนี้ พึงเดินอย่างนั้น ไม่พึงเดินอย่างนี้

              ท่านคิดว่า "โอ กรรมนี้หนัก แต่ก่อนนี้เราเป็นคฤหัสถ์ต้องแบกภาระเป็นอันมาก มีความวุ่นวายเป็นทุกข์ เราใคร่จะพ้นจากทุกข์จึงได้ออกจากเรือนมาบวชเป็นพระภิกษุ แต่แล้วในพระพุทธศาสนานี้กลับมีกิจกรรมอันยุ่งยาก วุ่นวายมากมายราวกับว่าจะเหยียดแขนเหยียดขาไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้เรากลับไปครองเรือนก็อาจพ้นทุกข์ในวัฏฏะได้ เราควรจะกลับไปเป็นคฤหัสถ์ดีกว่า" ตั้งแต่นั้นมาท่านเกิดความกระสันจะสึก หมดความยินดีในชีวิตพรหมจรรย์ ไม่ทำการสาธยายในอาการ ๓๒ ไม่เรียนพระกัมฐาน ร่างกายก็ผ่ายผอม ซูบซีด มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ถูกความเกียจคร้านครอบงำ หมดความเพียร ไม่ทำกิจการใดๆ ไม่กวาดลานวัด ไม่เก็บไม่กวาดกุฏิที่พักอาศัย ไม่สรงน้ำ ไม่ซักผ้าไตรจีวร ร่างกายจึงสกปรกโสโครก ผ้าผ่อนชุ่มไปด้วยเหงื่อไคล เกิดเป็นกลาก เกลื้อน เป็นหิดเปื่อย พวกพระภิกษุและสามเณรทั้งหลายพากันมาดูแล้วถามว่า "หลวงพี่ ทำไมถึงนั่งแฉะ นอนแฉะอยู่อย่างนี้เล่า?" ท่านก็ตอบว่า "ท่านทั้งหลาย ผมกระสันจะสึก" พวกพระภิกษุหนุ่มและสามเณรถามว่า "เพราะเหตุใดเล่า หลวงพี่?" ท่านจึงบอกเหตุให้ฟัง พวกพระภิกษุและสามเณรเหล่านั้นพากันไปบอกพระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ของท่าน พระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ได้พาท่านไปเฝ้าพระศาสดา

              รักษาจิตอย่างเดียว

             พระศาสดาตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอมาทำไม?"
             อาจารย์และอุปัชฌาย์ทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภิกษุรูปนี้กระสันจะสึกพระเจ้าข้า"
             (พระศาสดา) "เป็นอย่างนั้นหรือภิกษุ?"
             (ภิกษุ) "เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า"
             (พระศาสดา) "เพราะเหตุใด?"
             พระภิกษุผู้กระสันได้กราบทูลเล่าถึงสาเหตุให้พระศาสดาทรงสดับแล้ว
             (พระศาสดา) "ถ้าเธอจักรักษาเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น กิจที่จะต้องรักษาอื่นๆย่อมไม่มี"
             (ภิกษุ) "อะไร พระเจ้าข้า?"
             (พระศาสดา) "เธอจงรักษาจิตของเธอได้ไหม?"
             (ภิกษุ) "อาจรักษาได้พระเจ้าข้า"

             พระศาสดาทรงประทานโอวาทว่า "ถ้ากระนั้น เธอจงรักษาจิตของเธอไว้ เธออาจพ้นจากทุกข์ได้" แล้วพระองค์ตรัสเป็นพระคาถาว่า....

             "ผู้มีปัญญาพึงรักษาจิตที่เห็นได้แสนยากละเอียดยิ่งนัก มักตกไปสู่อารมณ์ใคร่ จิตที่คุ้มครองไว้ได้ย่อมนำสุขมาให้"

             ในกาลจบพระธรรมเทศนา ภิกษุนั้นบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ชนเหล่าอื่นเป็นอันมากได้บรรลุเป็นอริยะบุคคล มีพระโสดาบันเป็นต้น พระธรรมเทศนาได้สำเร็จประโยชน์แก่มหาชน ดั้งนี้แล.

             คำว่ารักษาจิต คือ รักษาให้ไกลจาก ความโลก ความกำหนัด ความโกรธ ความหลง

   
 



จบเรื่อง อุกกัณฐิตะภิกษุ

(พระไตรปิฎกอรรถกถาเล่ม ๔๐ หน้า ๔๐๗)



 


หน้าแรก I ประวัติหลวงพ่อเกษตร I วัดเขาหินเทิน I ภาพกิจกรรมวัดเขาหินเทิน I ธรรมะโดยหลวงพ่อเกษตร I กระดานกระทู้ธรรม l ติดต่อกับเรา
Copyright © 2003  Wat Khaohinturn All rights reserved
Designed & Managed by : flmonline.net