พระเจ้าจักรพรรดิ คือ มนุษย์ผู้มีบุญ เพราะได้ทำบุญมาดีแล้วแต่ชาติก่อน ด้วยการให้ทาน รักษาศีล ๕ และศีล ๘ หรือได้บำรุงบำเรอพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอะระหันต์ พระภิกษุสงฆ์ ได้บำรุงพระพุทธศาสนา ได้ประกาศเผยแพร่พระพุทธศาสนา หรือได้ทำประโยชน์แก่สาธารณะชนด้วยกำลังศรัทธาที่แรงกล้า.
         พระเจ้าจักรพรรดิ เป็นพระราชาโดยธรรมะ ไม่ต้องแย่งชิงอำนาจจากใครด้วยอุบายหรือการทำสงคราม ทรงชนะแล้ว มีอาณาจักรที่มั่นคง ทรงมีพระราชอำนาจสิทธิ์ขาดในโลกแต่ผู้เดียว ทรงมีพระปัญญาอันประเสริฐ ฉลาดรอบรู้ในสรรพวิชาการ ทรงบำรุงพัฒนาบ้านเมืองจนเจริญสูงสุด พระองค์มีแก้ว ๗ ประการ มีพระราชบุตรมากกว่าพันล้วนกล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีระกษัตริย์ สามารถย่ำยีกองกำลังของข้าศึกได้ไม่ยาก ด้วยอานุภาพบุญฤทธิ์ของพระองค์ และอานุภาพแห่งแก้ว ๗ ประการ ทำให้พระองค์ทรงบริหารและปกครองราษฎรโดยไม่ต้องใช้ศาสตรา ไม่ต้องใช้อาวุธหรือเครื่องมือประหัตประหารใดๆ ไม่ต้องลงโทษ ไม่ต้องลงอาชญา.
         สมัยใดโลกมีพระพุทธศาสนา พระองค์ก็ทรงทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา สมัยใดโลกว่างเปล่าจากจากพระพุทธศาสนาและพระปัจเจกพุทธเจ้า สมัยนั้นได้ชื่อว่าโลกมืด โลกจะแบ่งแยกเป็นประเทศเล็กประเทศน้อยอย่างมากมาย มีเชื้อชาติมากมาย ภาษามากมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีมากมาย มีลัทธิศาสนาอันไม่ได้ช่วยให้พ้นทุกข์ได้มากมาย แล้วมวลมนุษย์ในโลกก็เกิดความขัดแย้งกัน ทะเลาะไม่สามัคคีกัน ด่ากัน แล้วลงท้ายด้วยการจับก้อนดินบ้าง ท่อนไม้บ้าง อาวุธอันมีคมบ้าง ประหัตประหารกัน รบกัน ทำสงครามกัน แล้วเกิดการจองเวรด้วยการลอบทำร้ายกัน ลอบสังหารกันและก่อวินาศกรรม กลายเป็นลัทธิก่อการร้ายล้างผลาญกันไป ล้างผลาญกันมาไม่จบสิ้น พระองค์ทรงเห็นโทษเห็นความลามกของความแตกแยกและความแตกต่าง พระองค์จึงทรงรวบรวมมนุษย์ทุกชาติทุกเผ่าพันธุ์ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อให้มนุษย์โลกมีเพียงชาติเดียว เผ่าพันธุ์เดียว ภาษาเดียว ขนบธรรมเนียมประเพณีเดียว ใช้สกุลเงินเดียว แล้วพระองค์ทรงสอนศีล ๕ แก่มวลมนุษย์ในโลก เป็นหลักคำสอนเดียวศาสนาเดียว ดังนั้นมนุษย์ในยุคนั้นจึงมีพระเจ้าจักรพรรดิเป็นพระประมุขของชาวโลก และเป็นศาสดาของชาวโลก.


          เมื่อประมุขของโลกและมนุษย์โลกต่างมีศีล ๕ มีธรรมะอันงาม ไม่มีแหล่งอบายมุขใดๆในแผ่นดิน ไม่แตกแยกไม่ขัดแย้งกันดังนี้ มวลมนุษย์ย่อมเห็นความสุขความเจริญในปัจจุบัน เหล่าเทวดาทั้งหลายย่อมปลื้มปีติยินดี ร่าเริงบันเทิงใจ ฝนฟ้าก็ตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารก็อุดมสมบูรณ์ มนุษย์ทั้งหลายก็มีสุขภาพจิตสุขภาพกายดี อายุยืน จำนวนมนุษย์ก็มากขึ้นแต่ไม่ขาดแคลน มวลมนุษย์ทั้งปวงต่างมองหน้ากันด้วยแววตาแห่งความรักความเมตตา เมื่อนั้นได้ชื่อว่าพระเจ้าจักรพรรดิเป็นผู้ประทานแสงสว่างให้แก่โลก ประทานความร่มเย็นให้แก่โลก.
ฤทธิ์ ๔ ประการของพระเจ้าจักรพรรดิ

      ๑. พระเจ้าจักรพรรดิทรงมีพระรูปงาม น่าดู น่าชม น่าเลื่อมใส ทรงมีพระฉวีวรรณผ่องใสยิ่งกว่ามนุษย์ทั่วไป
      ๒. พระเจ้าจักรพรรดิทรงมีพระชนมายุยืนนานกว่ามนุษย์ทั่วไป
      ๓. พระเจ้าจักรพรรดิทรงมีอาพาธน้อย มีพระโรคน้อยกว่ามนุษย์ทั่วไป
      ๔. พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นที่รักที่ชอบใจของมนุษย์ทั้งหลาย และมนุษย์ทั้งหลายก็เป็นที่รักที่ชอบใจของพระเจ้าจักรพรรดิ
          ดุจบุตรเป็นที่รักที่ชอบใจของบิดาทีเดียว เมื่อถึงคราวพระเจ้าจักรพรรดิเสด็จเลียบพระนครออกเยี่ยมราษฎร ราษฎรทั้งหลายไปเฝ้า           พระองค์พลางกราบทูลว่า “ขอเดชะ... ขอพระองค์อย่าด่วนเสด็จไป พวกข้าพระองค์จะได้เฝ้าพระองค์นานๆ”แม้พระเจ้าจักรพรรดิก็
          ทรงตรัสกับนายสารถีว่า “นายสารถี เธออย่าด่วนขับรถไป เราจะได้เห็นราษฎรนานๆ”


ลักษณะ ๓๒ ประการของมหาบุรุษ

มหาบุรุษผู้มีลักษณะ ๓๒ ประการนี้ ย่อมเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หรือเป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น คือ....

๑. มีพระบาทเรียบเสมอ
๒. ที่ฝ่าพระบาททั้งสองมีลายรูปจักร อันมีซี่พันหนึ่ง มีกง มีดุมบริบูรณ์
๓. ส้นพระบาทยาว
๔. มีพระองคุลี (นิ้ว) ยาว
๕. ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม
๖. ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาท มีลายดุจตาข่าย
๗. มีพระบาทนูนสูงดุจสังข์คว่ำ
๘. มีพระชงฆ์ (แข้ง) เรียวดุจแข้งเนื้อทราย
๙. เมื่อประทับยืนมิได้ก้ม พระหัตถ์ทั้งสองลูบพระชานุ (เข่า) ทั้งสองได้
๑๐. มีพระคุยหะ (องคชาติ) เร้นอยู่ในฝัก
๑๑. พระฉวีวรรณดุจสีทอง
๑๒. พระฉวีวรรณละเอียดฝุ่นไม่เกาะ
๑๓. พระโลมา (ขน) เกิดขึ้นขุมละเส้น
๑๔. พระโลมาทุกเส้นชี้ขึ้นข้างบน
๑๕. พระวรกายตรงดุจกายพระพรหม
๑๖. พระมังสะเต็มในที่ ๗ แห่ง คือ หลังพระหัตถ์ทั้งสอง, หลังพระบาททั้งสอง, พระอังสะ (บ่า) ทั้งสอง และพระศอ (คอ)
๑๗. พระวรกายท่อนบนดุจกายท่อนหน้าของราชสีห์
๑๘. แผ่นหลังมีพระมังสะเต็ม
๑๙. พระวรกายดุจต้นไทร มีพระวรกายเท่ากับวา
๒๐. ลำพระศอกลม
๒๑. เส้นประสาทรับรู้รสได้ดี
๒๒. พระหนุ (คาง) ดุจคางของราชสีห์
๒๓. พระทนต์ (ฟัน) ๔๐ ซี่
๒๔. พระทนต์เรียบเสมอ
๒๕. พระทนต์ไม่ห่าง
๒๖. พระเขี้ยวแก้วขาวงาม
๒๗. พระชิวหา (ลิ้น) ใหญ่
๒๘. พระสุรเสียงก้องกังวานดุจเสียงของพระพรหม ไพเราะดุจเสียงของนกการเวก
๒๙. พระเนตรดำสนิท
๓๐. ดวงพระเนตรดุจตาของลูกโค
๓๑. พระอุณาโลม (ขนระหว่างคิ้ว) ขาวอ่อนนุ่มดุจสำลี
๓๒. พระเศียรดุจสวมมงกุฎ

  next >>
หน้าแรก I ประวัติหลวงพ่อเกษตร I วัดเขาหินเทิน I ธรรมะโดยหลวงพ่อเกษตร I กระดานกระทู้ธรรม l ติดต่อกับเรา
Copyright © 2003  Wat Khaohinturn All rights reserved
Designed & Managed by : flmonline.net