ฌาน คือ การเพ่ง การฝึกจิต การอบรมจิต ตามปกติจิตของมนุษย์ทั่วๆไปที่ไม่ได้รับการฝึกย่อมวุ่นวาย ร้อนรน ไม่เป็นสุข ไม่มีพลัง ไม่มีอำนาจ ไม่ควรแก่การงาน
             จิตที่ฝึกดีแล้ว อบรมดีแล้ว บังคบดีแล้ว เพ่งดีแล้ว ย่อมไม่วุ่นวาย ไม่ร้อนรน เป็นสุข มีพลัง มีอำนาจ ควรแก่การงาน
     การฝึกจิตหรือการอบรมจิต จิตจะสงบเป็นฌาน ต้องกำจัดนิวรณ์ที่เป็นเครื่องกั้นจิต เป็นสิ่งที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุณาน และการจะกำจัดนิวรณ์ได้ ต้องมีศีลให้บริสุทธิ์เสียก่อน นิวรณ์นั้นมี ๕ ประการ คือ

  • กาม คือ ความกำหนัด
  • พยาบาท คือ ความคิดร้าย ความขัดเคืองแค้นใจ
  • ถีนมิทธะ คือ ความหดหู่ ความง่วงเหงาซึมเซา
  • อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน ความร้อนรนใจ
  • วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย
   

ฌาน มี ๒ อย่าง คือ รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔


รูปฌาน
มี ๔ คือ:-

  • เมื่อละอกุศลธรรม (นิวรณ์) แล้วย่อมบรรลุ ปฐมฌาน อันมี วิตก, วิจาร (ความนึกคิดที่เป็นกุศลธรรม)
  • เมื่อละวิตก วิจาร แล้วย่อมบรรลุ ทุติยฌาน อันมี ปีติ (ความอิ่มใจ, ความดื่มด่ำในใจ)
  • เมื่อละปีติ แล้วย่อมบรรลุ ตติยฌาน อันมี สุข
  • เมื่อละสุข แล้วย่อมบรรลุ จตุตถฌาน อันมี อุเบกขา และจิตเป็นหนึ่ง
        ฌานแต่ละชั้นต้องฝึกปฏิบัติจนชำนาญเสียก่อน จึงค่อยเลื่อนขั้นต่อๆไป เมื่อบรรลุ จตุตถฌาน ปฏิบัติจนชำนาญดีแล้ว เป็นจตุตถฌานอย่างประณีต จิตย่อมมีพลังมีอำนาจ ควรแก่การนำไปใช้งาน คือ วิชชา ๓, วิชชา ๘, หรืออภิญญา ๖
       รูปฌานทั้ง ๔ นี้ ถ้าผู้ปฏิบัติได้ฌานใด อย่างเลว, อย่างกลาง, หรืออย่างประณีต เมื่อสิ้นชีวิตในขณะนั้น ย่อมไปเกิดเป็นรูปพรหมตามอำนาจฌานนั้นๆ และรูปพรหมนั้นก็มีอยู่หลายชั้นมาก

อรูปฌาน มี ๔ คือ:-
        เมื่อชำนาญในรูปฌานดีแล้ว หากปรารถนาฌานที่มีความประณีตยิ่งขึ้น พึงละความกำหนดหมายในรูป (รูปสัญญา) ซึ่งยังหยาบไม่ประณีตพอ

  • เมื่อเพ่งความว่างอันไม่มีสิ้นสุด ย่อมบรรลุ อากาสานัญจายตนะฌาน
  • เมื่อวิญญาณอันไม่มีสิ้นสุด ย่อมบรรลุ วิญญาณัญจายตนะฌาน
  • เมื่อเพ่งความไม่มีอะไรๆ ย่อมบรรลุ อากิญจัญญายตนะฌาน
  • เมื่อเพ่งความไม่มีอะไรละเอียดยิ่งขึ้น ย่อมบรรลุ เนวสัญญานาสัญญายตนะฌาน
      ผู้บรรลุ อรูปฌาน ย่อมเสวยสุขยิ่งกว่า รูปฌาน ตามลำดับชั้นขึ้นไป ผู้ได้อรูปฌานชั้นใด และสิ้นชีวิตในอรูปฌานนั้นย่อมไปเกิดเป็น อรูปพรหม (พระพรหมที่ไม่มีร่างกายมีแต่จิต)ชั้นนั้นๆ ซึ่งมี ๔ ชั้นตามชื่อของอรูปฌาน
      เรื่องของฌานทั้ง ๘ ขั้นนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างละเอียดพิสดารมากใน โปฏฐปาทสูตร พระไตรปิฎกเล่ม ๙ หน้า ๒๙๙ ในที่นี้คัดมาแต่พอประมาณ เอาเฉพาะหลักสำคัญๆก่อน ผู้เริ่มศึกษาจะได้ไม่สับสน ผู้ใคร่จะรู้ยิ่งขึ้นพึงศึกษาได้จากพระสูตรโดยตรงเทอญ

ความดับแห่งเคริ่องปรุงแต่งตามลำดับชั้น
        “...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความดับแห่งอนุบุพพสังขาร (เครื่องปรุงแต่งตามลำดับชั้น) ดังนี้:-

  • วาจา ของผู้บรรลุปฐมฌาน ย่อมดับ
  • วิตก(ตรึก,นึก) วิจาร(ตรอง,คิด) ของผู้บรรลุทุติยฌาน ย่อมดับ
  • ปีติ ของผู้บรรลุตติยฌาน ย่อมดับ
  • ลมหายใจเข้าออก ของผู้บรรลุจตุตถฌาน ย่อมดับ
  • รูปสัญญา ของผู้บรรลุอากาสานัญจายตนะฌาน ย่อมดับ
  • อากาสานัญจายตนะ สัญญา ของผู้บรรลุวิญญานัญจายตนะฌาน ย่อมดับ
  • วิญญานัญจายตนะสัญญา ของผู้บรรลุอากิญจัญญายตนะฌาน ย่อมดับ
  • อากิญจัญญายตนะสัญญา ของผู้บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะฌาน ย่อมดับ
  • สัญญาและเวทนา ของผู้บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ ย่อมดับ
  • ราคะ โทสะ และโมหะ ของพระขีณาสะพะ(พระอะระหันต์) ย่อมดับ...”
                                     (สังยุตนิกาย สฬายตนะวรรค เล่ม ๑๘ หน้า ๒๖๘)
 
ความสุขตามลำดับฌาน
 

“...ดูก่อนอานันทะ กามคุณ ๕ เหล่านี้ คือ รูป, เสียง, กลิ่น, รส, และโผฏฐัพพะ (สิ่งที่ถูกต้อง สัมผัสได้) อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ มีเสน่ห์ ชวนกำหนัด เป็นความสุขกาย สุขใจของชาวบ้าน......

  • ปฐมฌาน เป็นความสุขที่ดีกว่า ประณีตกว่า.... กามคุณ ๕
  • ทุติยฌาน เป็นความสุขที่ดีกว่า ประณีตกว่า.... ปฐมฌาน
  • ตติยฌาน เป็นความสุขที่ดีกว่า ประณีตกว่า.... ทุติยฌาน
  • จตุตถฌาน เป็นความสุขที่ดีกว่า ประณีตกว่า.... ตติยณาน
  • อากาสานัญจายตนะฌาน เป็นความสุขที่ดีกว่า ประณีตกว่า.... จตุตถฌาน
  • วิญญานัญจายตนะฌาน เป็นความสุขที่ดีกว่า ประณีตกว่า.... อากาสานัญจายตนะฌาน
  • อากิญจัญญายตนะฌาน เป็นความสุขที่ดีกว่า ประณีตกว่า.... วิญญานัญจายตนะฌาน
  • เนวสัญญานาสัญญายตนะฌาน เป็นความสุขที่ดีกว่า ประณีตกว่า.... อากิญจัญญายตนะฌาน
  • สัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นความสุขที่ดีกว่า ประณีตกว่า.... เนวสัญญานาสัญญายตนะฌาน
  “ดูก่อนอานันทะ... อาจมีเจ้าลัทธิอื่นกล่าวว่า พระสมณะโคดมกล่าว สัญญาเวทยิตนิโรธ ว่ามีความสุข จะเป็นไปได้อย่างไร? ดูก่อนอานันทะ... เธอพึงชี้แจงว่า ผู้มีอายุ... พระผู้มีพระภาคไม่ได้หมายถึงสุขเวทนา แต่หมายถึงสุขตามฐานะ”

                                                                                                                                (สังยุตนิกาย สฬายตนะวรรค เล่ม ๑๘ หน้า ๒๗๘)





หน้าแรก I ประวัติหลวงพ่อเกษตร I วัดเขาหินเทิน I ธรรมะโดยหลวงพ่อเกษตร I กระดานกระทู้ธรรม l ติดต่อกับเรา
Copyright © 2003  Wat Khaohinturn All rights reserved
Designed & Managed by : flmonline.net