๑.คนที่เขาหนีความทุกข์โดยวิธีการฆ่าตัวตาย เป็นบาปหรือไม่?

 
 
  ตอบ

เป็นบาป เพราะการตายก็เป็นทุกข์อย่างหนึ่ง เมื่อร่างกายอันประกอบด้วย ธาตุดิน, น้ำ, ไฟ, และลม แตกสลายไปแล้ว แต่จิตวิญญาณยังมีกิเลสอยู่ ก็ไปหาร่างใหม่ คือไปเกิดอีก เมื่อตายด้วยวิธีที่ไม่ฉลาด ย่อมไปเกิดในภูมิของผู้ไม่ฉลาด

พระพุทธเจ้าตรัสว่า
" มนุษย์เมื่อตายแล้ว ส่วนมากมักไปเกิดเป็นสัตว์นรก หรือไม่ก็ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน "

 
   
๒. พระพุทธเจ้ามีความอัศจรรย์อย่างไรบ้าง?
 

ตอบ

ความอัศจรรย์ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ที่พระองค์ตรัสไว้เป็นหลักฐานในพระสูตรต่างๆ มีมากมาย ในที่นี้จะกล่าว เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น
๑. พระพุทธองค์จะอุบัติในตระกูลที่สูงส่งเท่านั้น คือ สมัยใดโลกนับถือกษัตริย์ ว่าเป็นผู้เลิศ เมื่อนั้นพระองค์ก็อุบัติใน
ตระกูลกษัตริย์ สมัยใดโลกนับถือพราหมณ์ ว่าเป็นผู้เลิศ เมื่อนั้นพระองค์ก็อุบัติในตระกูลพราหมณ์ ดังนั้นพระ
พุทธเจ้าทุกพระองค์จะอุบัติใน ๒ ตระกูลนี้เท่านั้น
๒. เมื่อทรงประสูติในวันนั้น พระองค์จะเสด็จดำเนินไป ๗ ก้าว แล้วตรัสว่า " เราเป็นหนึ่งในโลก ไม่มีใครเสมอ
เหมือนเรา ไม่มีใครยิ่งกว่าเรา การเกิดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายของเรา "
๓. ทรงประสูติอย่างมีเกียรติ และหรูหรายิ่งกว่าใครๆ
๔. มีรัศมีซ่านออกจากพระวรกาย ข้างละวาทุกเมื่อ
๕. มีผิวสีทองฝุ่นไม่เกาะ ไร้ไฝฝ้าและมลทินทั้งปวง
๖. ทุกส่วนของพระวรกายมีกลิ่นหอม
๗. เสด็จขึ้นไปสอนเทวดาบนสวรรค์ และเสด็จขึ้นไปสอนพระพรหม บนพรหมโลกได้
๘. พระองค์ทรงยิ่งใหญ่กว่า เทวดา, พระพรหม และหมู่สัตว์ทั้งปวง
๙. ทรงอภิญญา คือ ระลึกชาติได้, ทิพย์โสต, ทิพย์จักษุ, รู้วาระของผู้อื่น, มโนมยิทธิ, อิทธิวิธี ฯลฯ.
๑๐. เสด็จปรินิพพานอย่างมีเกียรติ และหรูหรายิ่งกว่าใครๆ

   
๓. พระภิกษุรับเงิน และเก็บเงินไว้เป็นของส่วนตัวได้หรือไม่? ทำไมพระภิกษุเดี๋ยวนี้จึงรวยจริง??
 

ตอบ

พระวินัยของพระภิกษุข้อที่ ๓๗ คือ " ภิกษุรับเองก็ดี ให้ผู้อื่นรับให้ก็ดี ซึ่งเงินทอง (แร่เงิน, แร่ทอง, และเงินที่ชำระหนี้ ได้ตามกฎหมาย ) หรือยินดีให้เขาเก็บไว้เพื่อตน ต้องอาบัติ ( ศีลขาด ) " อาจจะมีพระภิกษุบางรูปกล่าวว่า " อาตมาอยู่นิกายนั้นนิกายนี้ ไม่จับเงินจับทอง " แต่ยังให้ลูกศิษย์เก็บเอาไว้ให้อยู่ ก็ผิดข้อเดียวกันนั้นเอง

พระพุทธเจ้าตรัสไว้อีกว่า
" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้ามีผู้ศรัทธาถวายเงินทองแก่เธอ เธอจงรับไว้เป็นของสงฆ์ ( ของกลาง ) เถิด และเราไม่ได้กล่าวว่าให้เธอไปหาเงินทองด้วยวิธีใดๆเลย "

พระภิกษุ คือ ผู้เห็นโทษของการครองเรือน จึงละเครือญาติน้อยใหญ่ ละทรัพย์สมบัติน้อยใหญ่ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตผู้ไม่มีเรือน เป็นผู้มักน้อยสันโดษด้วย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ตามมีตามได้ ประพฤติปฏิบัติเพื่อละกิเลสตัณหา ทรัพย์สมบัติอันเป็นของส่วนตัวของพระภิกษุ คือ

๑. ผ้าสังฆาฏิ ๒. จีวร ๓. ผ้านุ่ง ๔. สายรัดเอว ๕. บาตร ๖. มีดโกน ๗. เข็มเย็บผ้า ๘. ที่กรองน้ำ เพียง ๑ ชุด และอาหารวันละ ๑ มื้อเท่านั้น

เงินทองหรือทรัพย์สินอื่นๆ ที่เขาใส่บาตรให้ก็ดี ไปเทศน์ได้มาก็ดี ไปสวดได้มาก็ดี หรือเจ้าภาพได้กล่าวว่า ขอถวายให้ท่านเป็นการส่วนตัวก็ดี หรือจะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ รถยนต์ ที่ดิน ฯลฯ. สิ่งเหล่านี้พระภิกษุจะต้องสละเป็นของกลาง เป็นของวัด หรือใช้ในกิจการของพระศาสนา จะอ้างว่าเป็นของส่วนตัวไม่ได้

พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า
" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เจ้าอาวาสก็ดี พระภิกษุลูกวัดก็ดี ใช้ของสงฆ์เหมือนใช้ของส่วนตัว จะต้องถูกเก็บไว้ในนรก " ดังนั้นผู้ที่ร่ำรวยด้วยทรัพย์สมบัติอันเป็นของโลกๆ จึงไม่ใช่พระภิกษุ ถึงแม้ผู้นั้นจะแต่งตัวเหมือนพระภิกษุก็ตาม

เป็นที่น่ายินดีว่า ในปัจจุบันมีพระภิกษุรุ่นใหม่และวัดสมัยใหม่ หันมาปฏิบัติจริงจังในเรื่องนี้กันบ้างแล้ว สาธุชนผู้รู้เกิดศรัทธาพากันไปปฏิบัติธรรมในวัดที่มีความเคร่งคัดกันมากขึ้น
     
๔. จีวรของพระภิกษุที่ถูกต้อง ควรเป็นอย่างไร?
 

ตอบ

เครื่องนุ่งห่มของนักพรต นักบวช หรือสมณะ จะต้องไม่เหมือนเครื่องนุ่งห่มของผู้ครองเรือน ต้องไม่เป็นไปเพื่อ ประดับ เพื่อตกแต่ง เพื่อความสวยงาม อันเป็นการส่งเสริมกิเลส แต่เป็นไปเพื่อป้องกันร้อน ป้องกันหนาว กันแดดลม กันเหลือบยุงและสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย และเพียงเพื่อป้องกันความอายเท่านั้น จะต้องไม่เป็นของมีค่ามากเป็นที่ ต้องการของโจร ขนาดจะต้องไม่ใหญ่โตจนเกิดความงาม หรือรุ่มร่ามรุงรัง

พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ในพระไตรปิฎก ดังนี้

๑.สี คำว่าผ้ากาสายะ, กาสาวะ หรือ กาสาวพัตร์ คือ ผ้าย้อมฝาด เป็นผ้าที่ย้อมด้วยยางไม้หรือใบ ราก, ดอก ฯลฯ. ก็ได้ ดังนั้นจึงเป็นสีหม่นๆ เหมือนสีของเปลือกไม้หรือสีของใบไม้แห้ง อันเป็นสีเศร้าหมองสมควรแก่สมณะ สีที่ทรงห้ามใช้คือ สีครามล้วน, เหลืองล้วน, แดงล้วน, บานเย็นล้วน, แสดล้วน, ชมพูล้วน และดำล้วน แต่ถ้าเอาผ้าสีต่างๆเหล่านี้มาตัดปะติดปะต่อปนกัน เพื่อให้หมดค่าหมดความงามได้ นอกจากนี้พระพุทธองค์ยังทรงห้ามจีวรที่มีชายยาว ชายเป็นรูปดอกไม้ และการใส่เสื้อ นุ่งกางเกง สวมหมวก โพกผ้า เหมือนผู้ครองเรือน
ทั้งๆที่สีเหลืองก็เป็นสีที่พระศาสดาทรงห้าม แต่ทำไมพระภิกษุสามเณรทุกวันนี้จึงยังห่มผ้าสีเหลืองอยู่ เพราะช่างวาดภาพก็ดี ผู้ผลิตผ้าไตรจีวรออกขายก็ดี พระภิกษุสามเณรก็ดี ต่างไม่เคยอ่านพระไตรปิฎก เมื่อไม่อ่านพระไตรปิฎกจึงไม่รู้ว่าผิด แม้ภิกษุสามเณรบางรูปอาจเคยอ่านบ้าง ทั้งๆที่รู้ก็ทำเฉยเสีย ทำเลยตามเลย ไม่พากันท้วงติง แล้วผู้ชอบสวยชอบงามเหล่านั้น ก็พากันวาดภาพพระพุทธเจ้าห่มผ้าไตรสีเหลืองออกมา พากันผลิตผ้าไตรสีเหลืองออกมาขาย จึงเกิดคำพูดติดปากว่า " ผ้าเหลือง " เป็นธรรมชาติของสัตว์โลกมีราคะจริตอยู่แล้ว ย่อมชอบความงาม ชอบสีสัน ชอบความวาววับ ชอบสีสะดุดตา

๒.ขนาด ขนาดของจีวรและสังฆาฏิ คือ กว้าง ๖ คืบ ยาว ๙ คืบ ผ้านุ่ง กว้าง ๔ คืบ ยาว ๖ คืบ พระพุทธเจ้ามี พระวรกายที่สูงใหญ่กว่ามนุษย์สามัญ พระองค์ก็ใช้คืบของพระองค์ พระภิกษุก็ใช้คืบของผู้ห่มเอง เคยมีพระ ภิกษุบางรูปทำจีวรขนาดใหญ่เท่าพระพุทธเจ้า ชาวบ้านเห็นพากันติเตียน พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติเป็นพระ วินัยข้อที่ ๑๔๑ " ห้ามภิกษุห่มจีวร หรือสังฆาฏิ ที่มีขนาดใหญ่เท่าพระสุคต ถ้ารูปใดทำจะต้องตัดออก ถ้า ไม่ตัดออกต้องอาบัติ " จีวรและสังฆาฏิของพระภิกษุในปัจจุบันใหญ่ผิดขนาด ทำให้ดูรุ่มร่ามและซักยาก เป็นลักษณะของความมักมาก

๓.ลักษณะ ในสมัยก่อนจีวรของพระภิกษุเป็นผ้าผืนเดียวตลอดผืน พวกโจรเห็นอยากได้จึงลักเอาไปเสียบ้าง พระพุทธองค์ทรงเห็นโทษ จึงให้พระภิกษุตัดผ้าให้เป็นท่อนๆ แล้วเย็บต่อกันให้มีลักษณะเหมือนคันนาในแคว้นมคธ จะตัดกี่ท่อนก็ได้ แต่ละท่อนจะกว้างยาวเท่าไรก็ได้ เพียงเพื่อให้หมดค่าไม่เป็นที่ต้องการของพวกโจร

๔. ผ้าบังสุกุล เป็นผ้าที่พระภิกษุผู้ปฏิบัติธุดงค์วัตร เพื่อขูดเกลากิเลส คือ ผ้าที่เขาทิ้งตามถนนหนทาง หรือผ้าที่ใช้ห่อ ศพในป่าช้า จะเป็นสีอะไรก็ได้ พระภิกษุไปเอามาซักล้าง แล้วตัดเย็บปะติดปะต่อกันให้ได้ขนาด แล้วย้อมด้วยยาง ไม้ หรือจะไม่ย้อมก็ได้ เพราะไร้ค่าและเศร้าหมองอยู่แล้ว เป็นจีวรเป็นสังฆาฏิที่เหมาะแก่สมณะผู้มักน้อยสันโดษ

๕. การนุ่งห่ม พระพุทธองค์ตรัสเพียงว่า " นุ่งห่มให้เป็นปริมณฑล " คือ กะทัดรัดไม่รุ่มร่ามรุงรัง จีวรขนาดกว้าง ๖ คืบ ยาว ๙ คืบ นั้นไม่ใหญ่เลย ดังนั้นเท่าที่ห่มได้เป็นเพียงพาดๆพันๆเท่านั้น เป็นการเพียงพอแก่สมณะ ส่วนผืนที่สองนั้นใช้ห่มซ้อนภายนอกในเวลาหนาว หรือออกนอกวัด ผ้าห่มซ้อนนอกเรียกว่า สังฆาฏิ ทั้งผ้าจีวรและสังฆาฏิมีขนาดที่เท่ากันเหมือนกัน ใช้สลับสับเปลี่ยนกันได้ ใช่ปูนอนปูนั่งได้ และพระพุทธองค์ไม่เคยตรัสให้พระภิกษุเอาสังฆาฏิมาพาดบ่า เหมือนการพาดผ้าสะใบอันเป็นการแต่งตัว เป็นการประดับของชาวบ้านผู้บริโภคกาม การใช้ผ้ามัดอกก็เป็นการเพิ่มจำนวนผ้าให้มาก ผิดพุทธบัญญัติ เป็นความมักมาก เป็นการแต่งตัว

( จีวรขันธกะ มหาวรรค, พระวินับปิฎก เล่ม ๕ หน้า ๒๑๔ )
     
๕. ศาสนาใดๆในโลกนี้ มีต้นกำเนิดมาจากจุดเดียวกันหรือไม่?
 

ตอบ

ศาสนาต่างๆไม่ได้มีจุดกำเนิดจากจุดเดียวกัน จะเกิดที่ไหนในโลกก็ได้ แต่ในชมพูทวีป ( ประเทศอินเดียในปัจจุบัน ) เป็นศูนย์รวมของเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นศูนย์รวมของนักปราชญ์ เป็นดินแดนแห่งร้อยศาสนาพันความเชื่อ เป็นดินแดนแห่งความขัดแย้ง จะมีลัทธิความเชื่อหรือทิฎฐิ ๖๒ อย่าง อันเป็นแม่แบบของความเชื่อซึ่งมีอยู่กระจัดกระจายทั่วโลก ดังนั้นพระพุทธเจ้าทุกพระองค์จึงต้องเสด็จมาอุบัติขึ้นบนแผ่นดินนี้ เพื่อเป็นตัวเลือกของผู้มีปัญญา
     
๖. บุคคลที่อ้างตัวเป็นพระภิกษุ แอบอาศัยพระพุทธศาสนาหากินเป็นบาปหรือไม่? ถ้าบาปทำไมจึงไม่ส่งผลให้เห็นเด่นชัด?
 

ตอบ

ผู้แอบอาศัยพระพุทธศาสนาหากินนั้นเป็นบาป พระพุทธเจ้าตรัสว่า " ผู้ไม่ใช่สมณะ แต่กล่าวว่าตนเป็นสมณะ ผู้นั้นตายไปเพราะกายแตก ย่อมเข้าสู่อบาย ทุคติ วินิบาตนรก " พระภิกษุ คือ ผู้ที่ออกจากเรือนบวช เพื่อละกิเลสตัณหา ละการแสวงหาด้วยความโลภ อันเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ ถ้าผู้นั้นยังแสวงหาด้วยความโลภ (หากิน) โดยอาศัยพระพุทธศาสนาของพระศาสดา ย่อมได้ชื่อว่า " ไม่ใช่ภิกษุ " ถึงเขายังไม่ได้รับโทษในปัจจุบัน ยังทนอยู่ได้ ในชีวิตเขาก็จะไม่บรรลุมรรคผล หรือคุณวิเศษใดๆ ยิ่งเขาทนอยู่ได้นาน บาปของเขายิ่งพอกพูนขึ้น ทรัพย์สมบัติที่เขาสะสมไว้จะถึงกาลพินาศในชาตินี้เอง ไม่ต้องรอชาติหน้า แม้เขาตายก็ไปสู่นรก ดังพุทธพจน์ที่ว่า " เมื่อบาปยังไม่ส่งผล เมื่อนั้นคนชั่วย่อมรื่นเริง แต่เมื่อใดบาปส่งผล เมื่อนั้นคนชั่วย่อมเดือดร้อน "
     
๗. บาตรของพระภิกษุที่ถูกต้อง ควรเป็นอย่างไร?
 

ตอบ

นักพรตนักบวชทั่วไปจะไม่ใช้ ถ้วย จาน ชาม ใส่อาหารอย่างชาวบ้านผู้บริโภคกาม แต่ท่านจะใช้บาตรอันเป็นภาชนะพิเศษของผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายใส่อาหาร บาตรจะไม่เป็นของมีค่าราคาแพง สวยงาม หรือใหญ่โต อันเป็นการส่งเสริมกิเลส ส่งเสริมความโลภ พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสว่า บาตรของพระภิกษุนั้นมีขนาดเท่าใด เคยมีพระภิกษุเอาน้ำเต้าบ้าง หัวกะโหลกผีบ้างมาทำเป็นบาตร ชาวบ้านเห็นแล้วเพ่งโทษติเตียน พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติห้ามใช้ แสดงว่าบาตรของพระภิกษุนั้นมีขนาดเท่าๆกับศรีษะของมนุษย์ หรือพอใส่อาหารรับประทานได้ อิ่มเพียงหนึ่งมื้อเท่านั้น

บาตรที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติห้ามใช้เพราะชาวบ้านติเตียน คือ บาตรที่ทำด้วยไม้, น้ำเต้า, กะโหลกผี, ทองคำ, เงิน, แก้วมณี, แก้วไพฑูรย์, แก้วผลึก, กระจก, ทองสำฤทธิ์, ดีบุก, ตะกั่ว, และทองแดง พระพุทธองค์ทรงให้ใช้บาตร ๒ ชนิด คือ บาตรเหล็ก และบาตรดินเผา

บาตรของนักพรตนักบวชทั่วไป จะมีแต่ตัวบาตรเท่านั้น ไม่มีฝา ไม่มีเชิงรองบาตร ไม่มีตลกบาตร ต่อมาพระภิกษุบางรูปต้องการมีฝาบาตร เชิงรองบาตร ตลกบาตร ก็ไปขออนุญาตพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาต แต่ต้องไม่เป็นของมีราคาแพง หรือประดับตกแต่งอย่างงดงาม และสำหรับผู้ไม่ต้องการก็ไม่ต้องมี

     
 
 

หน้าแรก I ประวัติหลวงพ่อเกษตร I วัดเขาหินเทิน I ภาพกิจกรรมวัดเขาหินเทิน I ธรรมะโดยหลวงพ่อเกษตร I กระดานกระทู้ธรรม l ติดต่อกับเรา
Copyright © 2003  Wat Khaohinturn All rights reserved
Designed & Managed by : flmonline.net