๑. หลักธรรมะอันผู้ปฏิบัติแล้วบรรลุอะระหันต์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้มีอะไรบ้าง?


  ตอบ
หลักธรรมนั้นมีดังนี้:-
สติปัฏฐาน (ที่ตั้งแห่งสติ) ๔
สัมมัปปธาน (ความเพียร) ๔
อิทธิบาท (ที่ตั้งแห่งฤทธิ์) ๔
อินทรีย์ (ความยิ่งใหญ่) ๕
พละ (พลัง) ๕
โพชฌงค์ (องค์แห่งการตรัสรู้) ๗
อริยะมรรค (ทางของพระอริยะ) ๘
หรือรวมเรียกว่า “โพธิปักขิยะธรรม (ธรรมแห่งการตรัสรู้) ๓๗ ”


๒. ทำไมพระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้หลายหมวด?
  ตอบ
เพราะสัตว์โลกมีจริตมีนิสัยที่แตกต่างกัน เหมือนพระองค์ทรงเตรียมยารักษาโรคไว้หลายขนาน เพื่อรักษาโรคของคนที่มีอาการแตกต่างกันถ้ายาไม่ถูกกับโรค โรคนั้นย่อมไม่หายหลักปฏิบัติก็เช่นกันถ้าไม่ถูกกับจริต ไม่ถูกกับนิสัยของแต่ละคนแล้วย่อมไม่อาจบรรลุได้
ตัวอย่างเช่น   ผู้ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์เป็นนักนึกนักคิดค้นควรปฏิบัติโพชฌงค์ ๗ ผู้ที่ชอบมีฤทธิ์มีเดช ควรปฏิบัติอิทธิบาท๔ เป็นต้น.

๓. อินทรีย์ ๕ และ พละ ๕ มีข้อธรรมะเหมือนกันทุกอย่าง ทำไมพระองค์จึงไม่รวมไว้เป็นหมวดเดียวกัน?
  ตอบ
เพราะธรรมะทั้ง ๕ ข้อนี้ เหมาะกับคน ๒ จำพวก คือ พวกที่ชอบความยิ่งใหญ่ก็ปฏิบัติได้ คนที่ชอบพลัง--อำนาจ ก็ปฏิบัติได้.
๔. ธรรมะหมวดต่างๆเหล่านี้ ถ้าจะย่อลงได้หรือไม่?
  ตอบ
สามารถย่อลงได้เป็น ๓ คือ ศีล, สมาธิ และปัญญา.
๕. ศีล สมาธิ และปัญญา ข้อใดสำคัญกว่ากัน?
  ตอบ
ไม่มีข้อใดสำคัญกว่ากัน ล้วนสำคัญพอกันทุกข้อ.
๖. ธรรมะเหล่านี้จะย่อลงได้อีกหรือไม่?
  ตอบ

สามารถย่อลงได้อีกดังนี้ :-
บางครั้งพระองค์ทรงตรัสว่า “ธรรมะทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น”
บางครั้งพระองค์ทรงตรัสว่า “อย่าประมาท”
บางครั้งพระองค์ทรงตรัสว่า “จงละตัณหาเสียเถิดนะพราหมณ์”
บางครั้งพระองค์ทรงตรัสว่า “เธอจงรักษาจิตเถิด”.

๗. เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสธรรมะโดยย่อเพียงข้อเดียว ก็สามารถบรรลุมรรคผลได้ แล้วพระองค์จะตรัสธรรมะหมวดต่างๆ เช่น สติปัฏฐาน๔ หรือ พละ๕ ฯลฯ ทำไม?
  ตอบ

ที่พระองค์ทรงตรัสธรรมะ หมวด ๔ บ้าง หมวด ๕ บ้าง เป็นต้นนั้น เพื่อบุคคลธรรมดาทั่วๆไปเปรียบเสมือนพระองค์ทรงจัดตำหรับยาที่มีตัวยาครบ เพื่อให้แก่คนไข้ธรรมดาทั่วๆไปที่ต้องกินยาจนครบจึงจะหายจากโรค ถ้าคนไข้นั้นป่วยเพียงเล็กน้อย พระองค์ก็ไม่ต้องใส่ตัวยาจนครบสูตร.

๘. ธรรมะหมวดต่างๆ เช่น พละ๕ คือ ศรัทธา, วิริยะ, สติ, สมาธิ และปัญญา จะปฏิบัติเพียงข้อใดข้อหนึ่ง เช่นปฏิบัติเพียง “ศรัทธา” อย่างเดียว จะบรรลุมรรคผลได้หรือไม่?


  ตอบ
ถ้าผู้นั้นมีบารมีที่แก่กล้าดีแล้ว ด้วยการปฏิบัติสั่งสมมาดีแล้วแต่ชาติก่อนๆ มาในชาตินี้ปฏิบัติเพียงข้อเดียวก็บรรลุได้ ตัวอย่างเช่น พระอักกะลิ ท่านมีศรัทธาแก่กล้าที่สั่งสมมาดีแล้ว ท่านเพียงทำศรัทธายิ่งขึ้นในพระพุทธเจ้าท่านก็บรรลุอะระหันต์ได้ เรียกว่า “ศรัทธาวิมุติ” ส่วนผู้ที่มีจิตมั่นคงแก่กล้า เพียงรักษาจิตอย่างเดียวก็บรรลุอะระหันต์ได้ เรียกว่า “เจโตวิมุติ” และผู้ที่มีปัญญาแก่กล้า เพียงเจริญวิปัสนาอย่างเดียวก็บรรลุอะระหันต์ได้ เรียกว่า “ปัญญาวิมุติ”










 

 
หน้าแรก I ประวัติหลวงพ่อเกษตร I วัดเขาหินเทิน I ภาพกิจกรรมวัดเขาหินเทิน I ธรรมะโดยหลวงพ่อเกษตร I กระดานกระทู้ธรรม I ติดต่อกับเรา
Copyright © 2003 Wat Khaohinturn All rights reserved
Designed & Managed by : flmonline.net