๑.บทสวดพระพุทธคุณ และอานิสงส์ของการสวดพระพุทธคุณเป็นอย่างไร?
๑.๑ บทสวดอย่างสั้นมีหรือไม่อย่างไร? ถ้ามีคือบทอะไร? และมีอานิสงส์เป็นอย่างไร?
๑.๒ บทสวดอย่างกลาง มีบทสวดอะไรบ้าง? และอานิสงส์ที่ได้รับเป็นอย่างไร?
๑.๓ บทสวดอย่างยาวทั้งหมดมีเท่าไร? และอานิสงส์ที่ได้รับเป็นอย่างไร?

 
 
  ตอบ

การสวด คือ การท่องบ่น
มนต์ คือ คำสอนอันดี
การสวดมนต์ คือ การท่องบ่นหลักคำสอนอันดี
การสวดมนต์ ควรรู้คำแปลและความหมาย

 
 
บทพระพุทธคุณ คือ คุณความดีของพระพุทธเจ้ามี ๙ ประการ ดังนี้
๑. อรหัง เป็นพระอรหันต์ คือ เป็นผู้บริสุทธิ์ ไกลจากกิเลส ทำลายกำแห่งสังสารจักรได้แล้ว
๒. สัมมาสัมพุทโธ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบเอง
๓. วิชชาจรณสัมปันโน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา คือความรู้ และจรณะ คือความประพฤติ
๔. สุคโต เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว คือ ทรงดำเนินพระพุทธจริยาให้เป็นไปโดยสำเร็จผลด้วยดี
๕. โลกวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก คือ ทรงรู้แจ้งสภาวะอันเป็นคติธรรมดาแห่งโลก คือสังขารทั้งหลาย
๖. อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ฝึกได้ ไม่มีใครยิ่งไปกว่า คือ ทรงเป็นผู้ฝึกคนได้ดีเยี่ยม ไม่มีผู้ใดเทียมเท่า
๗. สัตถา เทวมนุสสานัง เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
๘. พุทโธ เป็นผู้ตื่นและเบิกบาน คือทรงตื่นเองจากความเชื่อถือและข้อปฏิบัติทั้งหลายที่ถือกันมาผิดๆ ทรงปลุกผู้อื่นให้พ้น
จากความหลงงมงาย
๙. ภควา ทรงเป็นผู้มีโชค คือ จะทรงกระทำการใด ก็ลุล่วงปลอดภัยทุกประการ หรือเป็นผู้จำแนกธรรม

อานิสงส์ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ยอดเยี่ยมประเสริฐสูงสุด ผู้ระลึกถึงสิ่งที่ยอดเยี่ยม ย่อมได้สิ่งที่ยอดเยี่ยม พระพุทธองค์ตรัสว่า

" พุทธานุสติ เป็นอารมณ์กรรมฐาน ที่ยอดเยี่ยมกว่าอารมณ์กรรมฐานอื่นๆ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเธอเกิดความสะดุ้งหวาดกลัว จงละลึกถึงพระพุทธเจ้า ความสะดุ้งหวาดกลัวจะหาย "

พระอริยะบุคคลย่อมเป็นพหูสูตร คือ ศึกษาเล่าเรียนพุทธพจน์ ฟังมาก คล่องปาก ขึ้นใจ จำได้ แทงตลอดด้วยทิฏฐิ

หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นพระสูตร หรือพระคาถา มีมากมาย ชนิดสั้นๆก็มี ชนิดยาวก็มี แต่ละพระสูตรหรือพระคาถา ต่างจบในตัวและดีทั้งนั้น การสวดหรือท่องบ่น อย่างสั้นหรืออย่างยาว ย่อมแล้วแต่ความเป็นไปได้ตามอัตภาพของแต่ละบุคคล คนแก่เฒ่าความจำไม่ดีก็สวดบทสั้นๆ คนที่ยังหนุ่มแน่นความจำดี สติปัญญาดีก็สวดบทยาวๆ แต่ข้อสำคัญคือสวดแล้วรู้ความหมายหรือไม่ รู้ความหมายแล้วประพฤติปฏิบัติตามได้หรือไม่ ตรงนี้ต่างหาก บุคคลถึงแม้จะสวดได้มาก ท่องจำได้มาก แต่ไม่รู้ความหมาย ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักคำสอน พระพุทธเจ้าตรัสว่า " คนคัมภีร์เปล่า "

หนังสือสวดมนต์ในประเทศไทยเวลานี้ ส่วนใหญ่แต่งขึ้นโดยรัชกาลที่ ๔ และอีกหลายๆบทแต่งขึ้นโดยภิกษุรุ่นหลังๆ เมื่อไม่นานมานี้เอง ได้เขียนคำนำ กล่าวอานิสงส์ไว้อย่างเลิศลอย เช่น ผู้ใดสวดบทนี้แล้ว ประเสริฐกว่าบทอื่นทั้งปวง สวดแล้วจะไม่ตกนรก สวดแล้วไฟจะไม่ไหม้บ้าน ถ้าผู้ใดพิมพ์แจกจะได้อานิสงส์สารพัด สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นช่องทางทำกินของคนบางจำพวก บทสวดเหล่านี้ไม่ใช่พุทธพจน์ ไม่ใช่คำสอนจากพระโอษฐ์ของพระศาสดา
การสวดมนต์ ถ้าคิดว่าจะเป็นเครื่องระลึก เพื่อเป็นพิธีก่อนหลับนอน หรือก่อนเจริญสมาธิ ควรเอาพระสูตรหรือพระคาถาใดๆก็ได้ในพระไตรปิฎก ตัวอย่างเช่น

๑. นโมตัสสะ…………….. ( คำคารวะนอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาค )
๒. พุทธัง สรนัง ………….. ( คำปฏิญาณรับพระรัตนตรัย ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก )
๓. อิติปิโส………………... ( พระพุทธคุณ )
๔. สวากขาโต……………. ( พระธรรมคุณ )
๕. สุปฏิปันโน……………. ( พระสังฆคุณ )
๖. ยังกิญจิ……………….. ( บทกรวดน้ำอันเป็นพุทธพจน์ )

ถ้ามีเวลาต้องการสวดยาวกว่านี้ ก็อาจจะเอา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร, อนัตตลัขณสูตร หรือ อาทิตตปริยายสูตร ฯลฯ.

ในปัจจุบันมีพระภิกษุ และอุบาสกอุบาสิกาชาวพม่า ผู้มีศรัทธาบางท่าน สามารถท่องจำพระไตรปิฎกได้ ๑ เล่มก็มี บางท่านท่องจำได้ ๑๐ เล่มก็มี แสดงออกถึงความมีศรัทธา มีความเพียร ย่อมได้วิริยะบารมี ปัญญาบารมี พระพุทธเจ้าตรัสว่า " ผู้ใดมีเพียงความรักในเรา หรือมีเพียงความเชื่อในเรา บุคคลเหล่านั้นทั้งหมด เมื่อตายไปเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ "
   
๒. ๒. ขันธ์ ๕ ใครๆก็รู้ ทำไมจึงกำหนดทุกข์ไม่ถูก?
 

ตอบ

ที่กำหนดไม่ถูก เพราะสัจจะธรรมเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก ถ้าเห็นได้ง่าย สัตว์โลกจะเบื่อหน่าย แสวงหาทางไปพระนิพพานกันหมด
   
๓. เวทนาอย่างไร? ชื่อว่าเวทนาภายนอก และเวทนาอย่างไร? ชื่อว่าเวทนาภายใน
 

ตอบ

เวทนาภายนอก คือเวทนาผู้อื่น เวทนาภายใน คือเวทนาของเราเอง
     
๔. ทำไมคนเราเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้ดมกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส และถูกต้องโผฎฐัพพะด้วยกาย รับรู้อารมณ์ด้วยใจ ก็ย่อมได้
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอายตนะและผัสสะเวทนาก็ไม่ใช่กิเลส แต่ทำไมคนเราจึงเกิดกิเลสขึ้นได้?
 

ตอบ

ที่ได้เกิดเป็นสัตว์บุคคลก็เพราะมีกิเลส ถ้าไม่มีกิเลสก็ไม่เป็นสัตว์บุคคล
     
๕. จะสังเกตขันธ์ ๕ ว่าเวลาเกิดขึ้นและดับไปนั้น จะสังเกตอย่างไรจึงจะได้เห็น และที่ว่าขันธ์สิ้นไปและเสื่อมไปนั้น มีลักษณะอย่างไร?
เพราะว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็เกิดขึ้นได้อีก ดูเป็นของคงที่ไม่เห็นมีความเสื่อม?
 

ตอบ

รูปขันธ์ จะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ง่าย เช่น จากหนุ่มไปแก่ แม้นามขันธ์อีก ๔ อย่าง ถ้าพิจารณาดีๆจะเห็นได้ไม่ยาก เช่น เวทนาที่เป็นความเจ็บปวด สังเกตว่าไม่นานก็หายไป หายแล้วก็เจ็บอีกปวดอีก อย่างสัญญา คือความจำ บางครั้งจำได้สักครู่ก็ลืม เดี๋ยวจำเดี๋ยวลืม
     
๖. ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นโลกีย์ กับเป็นโลกุตตระ นั้นต่างกันอย่างไร?
 

ตอบ

  • ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นโลกียะ คือ ถือศีลและเจริญสมาธิแล้ว โอ้อวด, ยินดี, ยึดมั่นถือมั่น ส่วนปัญญาเป็นความรู้แบบ
    โลกๆ ยังอาศัยกิเลส ไม่เห็นอริยะสัจจะ
  • ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นโลกุตตระ คือ ถือศีลและเจริญสมาธิ แล้วไม่โอ้อวด, ไม่ยินดียินร้าย, ไม่ยึดมั่นถือมั่น ส่วน ปัญญา
    ชำแรกกิเลส เห็นโทษเห็นทุกข์ในโลก เห็นอริยะสัจจะ ๔
     
๗. อโยนิโสมนสิกาโร ความทำในใจโดยไม่แยบคาย , โยนิโสมนสิกาโร ความทำในใจโดยแยบคาย
ทั้งสองนี้ คือ ทำอย่างไรจึงได้ชื่อว่า ไม่แยบคาย? และทำอย่างไรจึงได้ชื่อว่า แยบคาย?
 

ตอบ

  • ชื่อว่าไม่แยบคาย เพราะไม่พิจารณาใคร่ครวญบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ต่อเนื่อง
  • ชื่อว่าแยบคาย เพราะพิจารณาใคร่ครวญบ่อยๆ เนืองๆ ต่อเนื่องทุกลมหายใจ
       
๘. จะทำความเห็นอย่างไร จึงจะตรงกับความเป็นจริง?
 

ตอบ

การเห็นตามความเป็นจริง หรือ สัมมาทิฏฐิ คือ มีความเห็นว่า การให้ทานมีผล, การบูชามีผล, การบวงสรวงมีผล, วิบากของกรรมดีกรรมชั่วมี, โลกนี้มี, โลกหน้ามี, มารดามีคุณ, บิดามีคุณ, ครูบาอาจารย์มีคุณ, สัตว์ผู้ผุดเกิดมี, สมณะพราหมณ์ผู้ดำเนิน โดยชอบ ปฏิบัติชอบ แล้วประกาศโลกนี้และโลกหน้า ให้แจ่มแจ้งเพราะการตรัสรู้เอง ( พระพุทธเจ้า ) มี
  • อีกอย่างหนึ่ง เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
  • อีกอย่างหนึ่ง เห็นอริยะสัจ ๔
     
๙. พญามาร ๕ ประเภท ซึ่งถือได้ว่าเป็นอุปสรรค คอยกั้น คอยถ่วง คอยรั้ง คอยบังคับ ขัดขวางการปฏิบัติของผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ให้
บรรลุผลนั้นมีอะไรบ้าง?
 

ตอบ

จมาร ๕ คือ
๑. กิเลสมาร ( กิเลสของตนเอง )
๒. ขันธ์มาร ( ขันธ์ ๕ คือตัวเราเอง )
๓. อภิสังขารมาร ( ตัวปรุงแต่งกรรมให้ไปเกิดในภพใหม่ )
๔.เทวปุตตมาร ( เทวดาพวกที่มีจิตเป็นอกุศล )
๕. มัจจุมาร ( ความแก่และความตาย )
     
๑๐. คำสมาทานกรรมฐาน มีความสำคัญและให้ผลต่อผู้ปฏิบัติธรรมอย่างไร? เพียงไร?
 

ตอบ

การทำกุศลมีทั้ง กาย วาจา และใจ คำสมาทานกรรมฐานมีความสำคัญที่ได้แสดงออกทางวาจา เป็นการประกาศเตือนตนเองให้รักษาสัจจะวาจา ทำให้เกิดความหนักแน่น เกิดความมั่นใจ มีใจเด็ดเดี่ยวที่จะไม่ให้เสียคำสัจ ย่อมมีผลให้เกิดความสำเร็จ
     
๑๑. การฝึกพิจารณากัมมัฏฐาน ๕ ให้พิจารณาอย่างไร จึงจะเกิดปัญญาได้รู้เห็นตามความเป็นจริง ?
 

ตอบ

กรรมฐาน ๕ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน และหนัง ให้ดูบ่อยๆ พิจารณาดูความเปลี่ยนแปลง ความทรุดโทรม ความเหี่ยวย่น ความ หลุดล่อน ความน่าเกลียดด้วยกลิ่น ด้วยสี ผู้ที่จะเห็นได้ง่ายต้องเคยบำเพ็ญฝึกฝนมาแต่ชาติก่อนๆแล้ว ดังที่พระผู้มีพระ ภาคตรัสว่า
" เราเคยนอนหนุนกระดูกคนตาย นอนหนุนซากศพคนตาย มานับชาติไม่ถ้วน "

   
 
 

หน้าแรก I ประวัติหลวงพ่อเกษตร I วัดเขาหินเทิน I ภาพกิจกรรมวัดเขาหินเทิน I ธรรมะโดยหลวงพ่อเกษตร I กระดานกระทู้ธรรม l ติดต่อกับเรา
Copyright © 2003  Wat Khaohinturn All rights reserved
Designed & Managed by : flmonline.net